ช่างเทพ GODTECHNICIAN DESIGN

ช่างเทพ GODTECHNICIAN DESIGN

เมนู

เทคนิคงานเขียนแบบ

เทคนิคงานเขียนแบบ


ผังบริเวณและผังที่ตั้ง


แผนที่มีหลายชนิด เช่น แผนที่โลก แผนที่ประเทศ แผนที่จังหวัด แผนที่เมือง แผนที่หมู่บ้าน แผนที่ทางหลวง แผนที่ผังเมือง แผนที่ทางทหาร แผนที่ทางทะเล แผนที่ดวงดาว ฯลฯ แผนที่ดังกล่าวจะต้องแสดงมาตราส่วนกำกับ พร้อมเครื่องหมายทิศเหนือ ถ้านำแผนที่ดังกล่าวมาเขียนขยายใหญ่ขึ้นเฉพาะกรณีพื้นที่ ความละเอียดชัดเจนก็จะมากขึ้นตามลำดับ เช่น ผังบริเวณและผังที่ตั้ง


ความหมายของผังบริเวณและผังที่ตั้ง


1. ผังบริเวณ ( Layout Plan ) หมายถึงภาพ 2 มิติ ที่แสดงรายละเอียดในทางราบเกี่ยวกับตำแหน่งอาคารลงบนพื้นที่ก่อสร้าง บนแผนที่ในโฉนดที่ดินที่เขียนขยาย ให้รายละเอียดเกี่ยวกับระยะห่างจากแนวเขตถนน แนวเขตข้างเคียงโดยรอบ เครื่องหมายทิศเหนือ ตำแหน่งของบ่อบำบัดน้ำเสีย ทางเข้าออก การระบายน้ำทิ้ง บ่อพัก บ่อดักไขมัน และอื่นๆ ที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนด


2. ผังที่ตั้ง ( Site Plan ) หรือแผนที่สังเขป หมายถึงภาพ 2 มิติ ที่แสดงรายละเอียดในทางราบเกี่ยวกับที่ตั้งของที่ดิน เพื่อแสดงให้ทราบว่าตั้งอยู่ที่ตำแหน่งใด ห่างจากถนนหลัก ถนนรองเท่าไหร่ และมีสภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นอะไรบ้าง หรือตั้งอยู่ใกล้กับอะไรที่สังเกตุหรือมองเห็นได้ง่าย  มีจุดประสงค์เพื่อต้องการแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ไม่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดตัวอาคารแต่อย่างใด ดังนั้นการเขียนแผนที่ตั้ง จึงไม่ต้องมีมาตราส่วนกำกับ ให้เขียนระยะตัวเลขโดยประมาณขนาดของรูปแบบตามความเหมาะสม


กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับผังบริเวณและผังที่ตั้ง


เนื่องจากการเขียนผังบริเวณและผังที่ตั้ง จะจัดไว้แผ่นหน้าสุดของรูปเล่มแบบ ต่อจากรายการประกอบแบบ รายละเอียดที่สำคัญต่างๆ จะแสดงที่ผังบริเวณ สาเหตุเพราะเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโดยตรง ส่วนผังที่ตั้งแสดงเฉพาะตำแหน่งสถานที่ก่อสร้าง จึงไม่มีข้อกำหนดใดมาเกี่ยวข้อง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 มีดังนี้


1. มาตราส่วนที่ใช้เขียนผังบริเวณต้องไม่เล็กกว่ามาตราส่วน 1 : 500

2. กรณีโฉนดที่ดินมีผืนใหญ่มาก หรือใช้เอกสารโฉนดที่ดินหลายแผ่นมาเรียงต่อกันต้องแยกเขียนเป็น 2 ตอน จัดอยู่ในกระดาษแผ่นเดียวกันหรือแยกคนละแผ่นก็ได้  ดังนี้

3. ตอนแรกให้แสดงเฉพาะแนวเขตของที่ดินรวมที่มีทั้งหมด แสดงหมุดเขตที่ดิน ความยาวแนวเขตที่ดินแบบเต็มใบ ถนนสาธารณะ และ เครื่องหมายทิศเหนือ ให้ใช้มาตราส่วนใดก็ได้ที่เหมาะสมกับขนาดกระดาษเขียนแบบ แต่ไม่ต้องเขียนตัวอาคารลงไป

4.  ตอนที่สองให้เขียนแบบตัดตอนเอกสารโฉนดที่ดินเฉพาะที่อยู่ใกล้กับตัวอาคาร โดยใช้มาตราส่วนที่ไม่เล็กกว่ากฎหมายกำหนด คือ 1 : 500 แล้วจึงเขียนตำแหน่งตัวอาคาร แสดงรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น หมายเลขบนหลักเขตที่ดิน ระยะถอยร่นห่างจากแนวเขต ข้างเคียงไม่น้อยกว่าที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนด ตำแหน่งบ่อส้วม การระบายน้ำทิ้ง และทางเข้าออกเป็นต้น

5. ระยะถอยร่นอาคารห่างจากแนวเขตที่ดินข้างเคียง  ( ด้านข้างกับด้านหลัง ) มีดังนี้

6. อาคารที่สูงไม่เกิน 9 เมตร ผนังหรือระเบียง ต้องอยู่ห่างจากแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร จึงจะมีช่องเปิดหน้าต่างได้ ถ้าระยะน้อยกว่านี้ผนังต้องปิดทึบตันห่างจากแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร กรณีน้อยกว่านี้หรือสร้างชิดแนวเขตต้องได้รับการยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินข้างเคียง และห้ามมิให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารลุกล้ำแนวเขต ถ้ามีหลังคาเป็นดาดฟ้า ให้ทำผนังดาดฟ้าด้านชิดแนวเขตเป็นผนังทึบสูงไม่น้อยกว่า 1.80 เมตร กั้นตลอดแนว

7.  อาคารที่สูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ผนังหรือระเบียง ต้องอยู่ห่างจากแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 3 เมตร จึงจะมีช่องเปิดหน้าต่างได้  กรณีสร้างชิดแนวเขตที่ดิน ( เหมือนข้อแรก ) จะก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 15 เมตร ถ้ามีหลังคาป็นดาดฟ้าให้ทำผนังดาดฟ้า ด้านชิดแนวเขตเป็นผนังทึบสูงไม่น้อยกว่า 1.80 เมตร กั้นตลอดแนวเช่นกัน อนึ่ง การกำหนดความสูงอาคารให้วัดระยะจากพื้นดิน ก่อสร้างถึงยอดฝาหรือหลังคานหลังคาทรงจั่ว หรือปั้นหยา กรณีเป็นหลังคาดาดฟ้าให้วัดระยะถึงผิวพื้นดาดฟ้า

8. ระยะถอยร่นอาคารห่างจากแนวเขตถนนสาธารณะ มีดังนี้

9.  อาคารทุกขนาดที่สร้างติดถนนสาธารณะที่กว้างน้อยกว่า 6 เมตร ให้ถอยร่นแนวอาคารห่างจาก “จุดกึ่งกลางถนน” อย่างน้อย 3 เมตร

10. อาคารที่สูงเกิน 8 เมตร ที่สร้างติดถนนสาธารณะที่กว้างตั้งแต่ 6-10 เมตร ให้ถอยร่นแนวอาคารห่างจาก “จุดกึ่งกลางถนน” อย่างน้อย 6 เมตร

11. อาคารที่สูงเกิน 8 เมตร ที่สร้างติดถนนสาธารณะที่กว้างตั้งแต่ 10-20 เมตร ให้ถอยร่นแนวอาคารห่างจาก

“เขตถนนหรือแนวเขตที่ดินของตน”อย่างน้อย  1/10 ของความกว้างถนน

12. อาคารที่สูงเกิน 8 เมตร ที่สร้างติดถนนสาธารณะที่กว้างเกิน 20 เมตร ให้ถอยร่นแนวอาคารห่างจาก

“เขตถนนหรือแนวเขตที่ดินของตน”อย่างน้อย 2 เมตร

13.  ความสูงอาคารต้องไม่เกิน  2 เท่า ของระยะราบ ( Set back = 1 : 2 ) ที่วัดระยะจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวเขตด้านตรงกันข้ามของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้อาคารที่สุด

14. ระยะถอยร่นอาคารห่างจากเขตแหล่งน้ำสาธารณะ มีดังนี้

15.  อาคารทุกชนิดที่สร้างติดเขตแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ คู คลอง ห้วย และลำประโดง ที่กว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ถอยร่นอาคารห่างจาก “แนวเขตที่ดิน”อย่างน้อย 3 เมตร  แต่ถ้าแหล่งน้ำกว้างตั้งแต่ 10 เมตร  ให้ถอยร่นอย่างน้อย 6 เมตร

16.  ถ้าเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ บึงขนาดใหญ่  ( กว้านพะเยาหรือบึงบอระเพ็ด ) ทะเลสาบ และทะเล ให้ถอยร่นอย่างน้อย 12 เมตร อนึ่ง มีข้อยกเว้นอาคารบางประเภท เช่น สะพาน เขื่อน รั้ว ท่อระบายน้ำ ท่าเรือ ป้าย อู่เรือ คานเรือ และที่ว่างสำหรับจอดรถไม่ต้องถอยร่น

17. กฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบเฉพาะในบางพื้นที่ ได้แก่ พระราชบัญญัติผังเมือง 2518 ในเรื่อง การถอยร่นเพื่อกันแนวอาคารในถนนสาธารณะบางสาย การกำหนดความสูงอาคารในบางพื้นที่ และการแบ่งเขต ( Zone ) ประเภทของอาคาร และประกาศของกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดเขตปลอดภัยในการเดินอากาศบริเวณใกล้เคียงสนามบิน เป็นต้น

แปลนพื้น

แปลนพื้น

แปลนพื้น


ในอดีตแผนที่เป็นแบบแผ่นแรกของมนุษย์ ที่แสดงตำแหน่งที่ตั้ง ภูมิประเทศ ทิศเหนือ ถนน แม่น้ำ แหล่งน้ำ ภูเขา สิ่งก่อสร้างต่างๆ มีประโยชน์ต่อการเดินทาง และการค้นหาทรัพย์สมบัติ การเขียนแผนที่ในยุคแรกอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านใช้จินตนาการขึ้นเอง นับเป็นการฝึกเขียนภาพ 2 มิติ ที่มีลักษณะคล้ายการเขียนแปลนพื้นหรือผังพื้นในปัจจุบัน


ความหมายของแปลนพื้น
แปลนพื้นหรือผังพื้น ( Floor Plan )


หมายถึง รูปตัดในทางราบหรือทางนอนเป็นภาพ 2 มิติ ( กว้างกับยาว ) ที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับขนาดรูปร่าง การจัดแบบพื้นที่ใช้สอย เขียนออกมาในลักษณะของสัญลักษณ์เส้น คำย่อ ตัวเลข ตัวอักษร ระดับความสูง และมาตราส่วนประกอบกัน เพื่อใช้สื่อความหมาย การเรียกชื่อแปลนพื้นจะกำหนดตามตำแหน่งของแปลนพื้นตั้งอยู่ เช่น บ้าน 2 ชั้น จะประกอบด้วย แปลนพื้นชั้นล่างกับแปลนพื้นชั้นบนเป็นต้น


สัญลักษณ์ในแปลนพื้น


แปลนพื้น เป็นแบบที่แสดงจำนวนสัญลักษณ์ที่มีมากที่สุด ได้แก่ เสา ผนัง ประตู หน้าต่าง บันได ทิศเหนือ การบอกขนาดมิติกว้างยาว ระดับความสูง ชื่อห้อง วัสดุปูพื้น แนวเส้นตัด รายการประกอบแบบ และรหัสรูปด้าน เป็นต้น


กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแบบแปลนพื้น


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 กำหนดดังนี้


1. การเขียนแปลนพื้นต้องเขียนแสดงให้ครบทุกชั้น ถ้ามีชั้นลอยหรือชั้นใต้ดินหรือชั้นดาดฟ้า

ต้องเขียนแสดงชั้นลอยหรือชั้นใต้ดินหรือชั้นดาดฟ้าด้วย

2. แนวเส้นตัดแปลนพื้นทุกชั้น ให้มีไม่ต่ำกว่า 2 แนวเส้นตัด คือ ตัดตามขวาง และตัดตามยาว บังคับให้ตัดผ่านห้องน้ำ 1 รูป และตัดผ่านบันได 1 รูป

3. มาตราส่วนที่ใช้เขียนแปลนพื้น ต้องไม่ต่ำกว่า 1:100 ยกเว้นกรณีแปลนพื้นมีความกว้างหรือความยาวเกินกว่า 90 เมตร อนุโลมให้ใช้มาตราส่วนไม่ต่ำกว่า 1:125 ได้


ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนแปลนพื้น


1. การเขียนบอกชื่อห้อง ระดับความสูง และหมายเลขพื้น ให้เขียนประมาณจุดศูนย์กลางห้องที่ต้องการ

โดยเขียนได้ 2 ลักษณะ คือ แบบเปิดและแบบปิด ให้เลือกเอาแบบใดแบบหนึ่งตลอดโครงการ

2. ถ้าพื้นห้องเล็กแคบ ไม่สามารถเขียนบอกชื่อห้องลงไปได้ ให้เขียนไว้นอกแบบแล้งโยงเส้นลูกศรชี้บอกชื่อห้อง

3. การเขียนแปลนพื้นที่มีหลายชั้น ให้เขียนแสดงเฉพาะในส่วนของแปลนพื้นชั้นนั้น ไม่ต้องเขียนส่วนของแปลนที่อยู่ชั้นล่าง ถึงแม้ตามความเป็นจริงจะมองเห็นก็ตาม เพราะจะทำให้การอ่านแบบยุ่งยากสับสน แยกไม่ออกว่าอยู่ชั้นไหน เช่น เขียนแปลนพื้นชั้นบน ต้องไม่เขียนถนนหรือลานซักล้างหรือระเบียงที่อยู่ในแปลนชั้นล่างเป็นต้น

4. การเขียนแปลนพื้นที่เป็นชั้นลอย ต้องเขียนให้ครอบคลุมชั้นล่าง แต่ไม่ต้องเขียนรายละเอียดใดๆลงไปอีก

สาเหตุเพราะเขียนแสดงในแปลนพื้นชั้นล่างแล้ว แต่ให้เขียนเส้นทแยงมุมลงไปแทนแล้วเขียนคำว่า “ช่องโล่ง”ทับจุดตัดเส้นทแยงมุม

5. ไม่ต้องเขียนบอกแสดงจำนวนเลขขั้นบันไดในแปลนพื้น เพราะต้องเขียนแบบขยายบันไดอยู่แล้ว ให้เขียนบอกแต่สัญลักษณ์ หมายเลขบันได เช่น บ1 และ บ2

6. การเขียนแสดงทิศทางขึ้นลงบันไดบ้าน 2 ชั้น ในแปลนพื้นชั้นล่างให้เขียนเพียงบางส่วนและเขียนเส้นตัดตอนแนวเฉียงปิด พร้อมเส้นลูกศรข้อความ “ขึ้น” ไว้ที่หางลูกศร ส่วนแปลนพื้นชั้นบนให้เขียนแปลนบันไดมองเห็นเต็มรูปแบบ พร้อมเส้นลูกศรข้อความ “ลง” ไว้ที่หางลูกศร

7. การเขียนประตู หน้าต่างที่เป็นบานเปิดธรรมดาแสดงทิศทางการเปิดปิด เป็นเส้นโค้งหรือเส้นเฉียง 45 องศา ให้เลือกเอาแบบใดแบบหนึ่ง แบบเดียวกันตลอดโครงการ

8. พื้นที่ส่วนที่เป็นช่องโล่งทะลุ เช่น ช่องท่อ ( Duct ) และช่องลิฟต์ เขียนเป็นเส้นทแยงมุมลงไปแล้วเขียนคำว่า “ช่องโล่ง” ทับจุดตัดเส้นทแยงมุม

9. ระดับของพื้นห้องน้ำ พื้นระเบียง พื้นเฉลียง และลานซักล้าง จะต้องอยู่ต่ำกว่าระดับของพื้นห้องทั่วไปในชั้นเดียวกันประมาณ 10 เซนติเมตร สาเหตุเพราะไม่ต้องการให้น้ำใช้และน้ำฝนที่พื้นห้องดังกล่าวกระเซ็นไหลเข้าสู่ห้องภายในบ้าน ดังนั้นการเขียนแสดงระดับที่แตกต่างกันจะต้องมีเส้นแบ่งระดับ 1 เส้น ที่ประตูห้อง ถ้าไม่มีแสดงว่ามีระดับที่เสมอกัน

10. การจัดวางรูปแบบแปลนพื้นลงบนกระดาษเขียนแบบ ให้เอาทางเข้าหลักหรือประตูใหญ่หันลงด้านล่างกระดาษเขียนแบบ ให้ดูประหนึ่งเหมือนเรากำลังเดินตรงเข้าสู่ตัวอาคาร รวมทั้งการเขียนแบบขยายแปลนห้องน้ำ และแบบขยายแปลนบันได ก็ให้จัดวางในลักษณะเดียวกัน

รูปด้าน

รูปด้าน

รูปด้าน


รูปภาพที่คนทั่วไปทำความเข้าใจและอ่านออกได้ง่ายที่สุด อีกทั้งบุคคลที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ในวิชาเขียนแบบมาก่อน และเป็นภาพที่เกือบทุกคนสามารถจะร่างภาพออกมาเป็นลักษณะของภาพลายเส้นด้วยตนเองอย่างคร่าวๆ เนื่องจากเป็นภาพที่พบเห็นในชีวิตประจำวันจนเคยชินต่อสายตา ภาพดังกล่าวจัดเป็นรูปทรงเรขาคณิต 2 มิติ ประเภทหนึ่งสิ่งนั้น คือ รูปด้าน


ความหมายของรูปด้าน


รูปด้าน ( Elevation )หมายถึง รูปที่ปรากฏในแนวดิ่งของอาคารแสดงรูปร่างรายละเอียดภายนอกโดยรอบ

เป็นการมองในลักษณะขนานกับพื้นดินทีละด้านจนครบ 4 ด้าน ประกอบการใช้สัญลักษณ์ เส้น ตัวย่อ ตัวอักษร ตัวเลข และมาตราส่วนรวมกันเพื่อใช้สื่อความหมาย รูปด้านมีลักษณะคล้ายรูปตัด

การกำหนดชื่อหรือการเรียกชื่อรูปด้าน แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

1. กำหนดชื่อตามลักษณะของการมองเห็นภาพจากแปลนพื้น ให้ครบ 4 ด้าน เช่น รูปด้านหน้า รูปด้านซ้าย รูปด้านขวาและรูปด้านหลัง เป็นต้น เหมาะสำหรับแปลนพื้นโดยรวมเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีประตูทางเข้าหลักอยู่ด้านอาคาร

2. กำหนดชื่อตามทิศสี่ทิศ เป็นทิศที่รูปด้านนั้นหันไปทางทิศดังกล่าว จนครบ 4 ด้าน เช่น รูปด้านทิศเหนือ รูปด้านทิศใต้ รูปด้านทิศตะวันออก และรูปด้านทิศตะวันตก เป็นต้น เหมาะสำหรับ กรณีรูปแปลนพื้นรูปทรงสี่เหลี่ยม วางในแนวขนานหรือวางตั้งฉาก กับเครื่องหมายทิศเหนือในรูปแปลนอย่างชัดเจน

3. กำหนดชื่อตามเครื่องหมายรหัส ( Code ) รหัสที่ใช้กำหนดเป็นตัวเลขหรือตัวอักษรให้ครบ 4 ด้าน เช่น รูปด้าน 1 รูปด้าน 2 รูปด้าน 3 และรูปด้าน 4 หรือ รูปด้าน ก รูปด้าน ข รูปด้าน ค และรูปด้าน ง เป็นต้น เหมาะสำหรับกรณีรูปแปลนพื้น มีลักษณะเป็นรูปหลายเหลี่ยม รูปวงกลม รูปทรงอิสระ หรือรูปทรงใดๆ ให้เขียนแสดงเครื่องหมายรหัสลงในแปลนพื้น โดยให้ตัวเลข 1 หรือตัวอักษรตัวแรกเป็นรูปด้านหน้า


กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแบบรูปด้าน


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 มีดังนี้


1. การเขียนแบบรูปด้านเพื่อขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร ให้เขียนแสดงไม่น้อยกว่า 2 ด้าน เช่น รูปด้านหน้า 1 รูป และรูปด้านข้าง ด้านใดด้านหนึ่ง อีก 1 รูป เป็นต้น

2. มาตราส่วนที่ใช้เขียนแบบรูปด้านเป็นมาตราส่วนเดียวกันกับการเขียนแบบแปลนพื้น

เช่น แปลนพื้นเขียนด้วยมาตราส่วน 1:100 แบบรูปด้านก็ต้องเขียนด้วยมาตราส่วน 1:100 เช่นกัน


ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนแบบรูปด้าน


1. แบบรูปด้าน ต้องไม่มีสัญลักษณ์ของหน้าตัดวัสดุเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น หน้าตัดดิน หน้าตัดคอนกรีต และหน้าตัดไม้ เป็นต้น จะพบบ่อยในรายที่เพิ่งหัดเขียนเป็นครั้งแรก สาเหตุเพราะคิดว่าเหมือนการเขียนรูปตัด

2. การเขียนเน้นระยะใกล้ด้วยเส้นหนา และระยะไกลด้วยเส้นบาง โดยพิจารณาดูจากแบบรูปแปลนพื้นก็จะทราบได้ว่าระนาบใดอยู่ใกล้หรืออยู่ไกล และไม่ควรเขียนเป็นเส้นหนาเป็นเส้นขอบรูปโดยรอบรูปด้าน

3. การเขียนแบบรูปด้านต้องจัดรูปให้อยู่ตรงแนวเดียวกันเป็นคู่ๆ เช่น รูปด้านหน้าคู่กับรูปด้านซ้าย และรูปด้านหลังคู่กับรูปด้านขวา การเขียนแบบรูปด้านที่เป็นหน้าจั่ว ให้เขียนแบบรูปด้านที่เป็นรูปหน้าจั่วก่อนเสมอ แล้วจึงเขียนรูปด้านอื่น ทั้งนี้เพื่อให้ง่าย และสะดวกในการใช้ไม้ทีถ่ายระดับความสูงแนวนอนไปสู่รูปด้านที่เหลือ ที่ไม่ต้องเสียเวลาวัดระยะความสูงอีก

4. ส่วนที่เป็นช่องโล่งมองทะลุไม่มีอะไรปิดกั้น ให้เขียนเป็นเส้นทแยงมุมทับลงไปในช่องว่างนั้น แล้วเขียนคำว่า “ช่องโล่ง” ทับจุดตัดเส้นทแยงมุม

รูปตัด

รูปตัด

รูปตัด


เราผ่าวัตถุสิ่งของก็เพื่อต้องการทราบรายละเอียดต่างๆ ที่อยู่ภายใน สาเหตุเนื่องจากไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ ในงานเขียนแบบก็เช่นเดียวกัน ถ้าตัดบ้านในแนวนอนขนานกับพื้นดินระดับกึ่งกลางหน้าต่าง เอาส่วนบนออกทิ้ง มองดูส่วนล่างในลักษณะตั้งฉากกับพื้นดิน จะเป็นรูปของแปลนพื้นแต่ละชั้นในทำนองเดียวกัน ถ้าตัดบ้านในแนวตั้ง เอาส่วนหลังลูกศรออกทิ้ง แล้วมองให้ขนานกับพื้นดินไปตามลูกศร จะได้ภาพ 2 มิติ ที่เรียกว่า รูปตัด


ความหมายของรูปตัด


รูปตัด ( Section ) หมายถึง รูปซึ่งเกิดจากการตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของวัตถุ ที่ตัดด้วยระนาบเดียวหรือหลายระนาบ เพื่อแสดงให้เห็นส่วนของวัตถุที่ต้องการ ณ จุดระนาบแนวตัด และส่วนที่มองเห็นได้เบื้องหลัง ตามแนวเส้นตัดที่กำหนดไว้ในแปลนพื้น เพื่อแสดงให้เห็นรายละเอียดในแนวดิ่งของงานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรม ตั้งแต่ใต้ดินขึ้นมาถึงส่วนที่อยู่บนดินไปสิ้นสุดที่หลังคา ด้วยการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในงานเขียนแบบประกอบกันเพื่อสื่อความหมาย


รูปตัดในงานเขียนแบบ


รูปตัดในงานเขียนแบบแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ รูปตัดตามขวาง และรูปตัดตามยาว มีรายละเอียดดังนี้


1. รูปตัดตามขวาง ( Transverse Section ) หมายถึง รูปตัดที่ตัดตามแนวเส้นตัดในแปลนพื้นที่ตัดผ่านด้านแคบ หรือด้านสั้นของอาคาร

2. รูปตัดตามยาว ( Longitudinal Section ) หมายถึง รูปตัดที่ตัดตามแนวเส้นตัดในแปลนพื้นที่ตัดผ่านด้านยาวของอาคาร กรณีที่รูปแปลนพื้นอาคารเป็นรูปร่างอื่นใดที่มิใช่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำให้แยกไม่ออกว่าด้านใดเป็นด้านสั้นหรือด้านยาว การกำหนดแนวตัดก็ต้องกำหนดเป็น 2 แนวตัด เช่นเดียวกัน โดยให้แนวเส้นตัดทั้ง 2 เส้น ตั้งฉากกัน


กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแบบรูปตัด


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 มีดังนี้


1. การเขียนรูปตัดต้องเขียนแสดงไม่น้อยกว่า 2 รูป ได้แก่ รูปตัดตามขวางและรูปตัดตามยาว

2. กำหนดแนวเส้นตัดและหัวลูกศรเป็นเส้นหนามาก ต้องตัดผ่านบันไดและตัดผ่านห้องน้ำ

ถ้าใช้แนวเส้นตัดตรงไม่ได้ก็ให้ใช้การตัดเยื้องเข้าช่วย

3. มาตราส่วนที่ใช้เขียนแบบรูปตัดทั้ง 2 รูป ต้องไม่เล็กกว่ามาตราส่วน 1: 50


ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนแบบรูปตัด


การเขียนแบบรูปตัดมีข้อแตกต่างกับการเขียนแบบแปลนพื้น และการเขียนรูปด้าน ดังนี้


1. รูปที่แสดงในรูปตัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นหน้าตัด และส่วนที่มองเห็นหลังเส้นแนวตัดซึ่งจะอยู่ที่ระยะไกลออกไป ต้องแยกให้ออกเนื่องจากสัญลักษณ์ที่ใช้เขียนจะไม่เหมือนกันระหว่างรูปตัดกับรูปด้าน ใช้เส้นหนามากในส่วนที่เป็นหน้าตัด และใช้เส้นบางในส่วนทีอยู่หลังแนวตัด

2. การเขียนลูกศรชี้บอกรายการประกอบบแบบในรูปตัด ใช้เส้นบางแสดงหัวลูกศรปลายเปิด 2 ข้าง มุมเฉียง 45 องศา ชี้ทับบนรูปที่ต้องการ เขียนให้เป็นระเบียบสวยงามในแนวนอน แนวดิ่ง และแนวเฉียง มุม 45 องศา ต้องระวังมิให้เส้นลูกศรทับกัน ข้อความตัวหนังสือที่เขียนให้เขียนต่อท้ายเส้นลูกศร และต้องไม่ขีดเส้นใต้ข้อความดังกล่าว

3. ระดับความสูงในรูปตัดกำหนดจากพื้นดินหรือระดับอ้างอิงสมมติ เป็น +0.00 เมตร การวัดระยะต้องเริ่มที่ระดับความสูง +0.00 เมตร ทุกครั้ง ห้ามวัดเป็นระยะต่อเนื่อง สาเหตุเพราะไม่ใช่เป็นระยะความยาวแนวดิ่ง อย่านำมาปนกัน ถ้าเป็นเครื่องหมายลบแสดงว่าระดับอยู่ต่ำเกินไป

4. การเขียนเส้นฉายบอกมิติความยาวในแนวราบทั้งมิติย่อยและมิติรวม ต้องเขียนเส้นฉายแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นระยะจากศูนย์กลาง ถึงศูนย์กลางหรือระยะจากศูนย์กลางถึงเส้นริมขอบ


ขั้นตอนการเขียนแบบรูปตัด


การเขียนแบบรูปตัดจะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับแนวเส้นตัดที่แสดงในแปลนพื้น ดังนั้นช่างเขียนแบบจะต้องนำแปลนพื้นมาทำการศึกษา แนวเส้นตัดอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่าตัดผ่านส่วนใดที่ตำแหน่งใดของโครงสร้างพื้น ผนัง บันได ไปจนถึงโครงหลังคา ต้องใช้จินตนาการออกมาให้ได้ ว่าส่วนใดเป็นหน้าตัดให้เขียนเน้นด้วยเส้นหนา และส่วนใดเป็นรูปด้านก็ให้เป็นเส้นบาง

แปลนโครงสร้าง

แปลนโครงสร้าง

แปลนโครงสร้าง


ความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร ผู้รับผิดชอบโดยตรงในการออกแบบคือ วิศวกรโครงสร้าง เริ่มต้นตั้งแต่ส่วนต่ำสุดหรือล่างสุดคือ ฐานราก เสา คาน บันได พื้น ผนัง และไปสิ้นสุดที่ส่วนที่อยู่สูงสุดคือ หลังคาตามลำดับ การพิจารณาออกแบบแปลนโครงสร้าง จะพิจารณางานทางสถาปัตยกรรม ได้แก่ แปลนพื้นหรืผังพื้นเป็นหลัก


ความหมายของแปลนโครงสร้าง


แปลนโครงสร้างหรือผังโครงสร้าง หมายถึง แบบรูปในแนวราบหรือแนวนอน มีลักษณะเป็นภาพ 2 มิติ (กว้างกับยาว) ที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับรูปร่าง พื้นที่ และตำแหน่งการจัดวางส่วนประกอบโครงสร้าง แบ่งเป็นส่วนๆที่มีความสำพันธ์เชื่อมโยงกับแปลนพื้นหรือผังพื้น จากส่วนที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาบนดินไปสิ้นสุดที่โครงหลังคาตามลำดับ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ เส้น ตัวย่อ ตัวเลข และมาตราส่วนประกอบกันเพื่อสื่อความหมาย

โครงสร้างใต้ดิน


โครงสร้างใต้ดิน (Sub structure) คือ โครงสร้างส่วนล่างของอาคารที่ฝังจมอยู่ใต้ดิน หรือวางสัมผัสกับพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ เป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนักโครงสร้างเหนือดินของอาคาร ได้แก่ ฐานรากและเสาตอม่อ มีรายละเอียดดังนี้

1. ฐานราก (Footing) คือ โครงสร้างส่วนที่อยู่ล่างสุดของอาคาร เพื่อถ่ายหรือกระจายน้ำหนักขั้นสุดท้ายลงสู่ดินใต้ฐานราก ฐานรากยังแบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด คือ ฐานรากแผ่และฐานรากเข็มเป็นต้น
2. เสาตอม่อ (Ground Column) คือ เสาสั้นส่วนที่อยู่ล่างสุด ระหว่างฐานรากกับคาน โดยทั่วไปเสาตอม่อจะจมอยู่ใต้ดิน ทำหน้าที่รับแรงอัดหรือน้ำหนักในทางดิ่ง แล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่ฐานรากและเสาเข็ม

โครงสร้างเหนือดิน


โครงสร้างเหนือดิน (Super Structure) คือ โครงสร้างที่วางอยู่บนดินเป็นส่วนใหญ่ เป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนักเบื้องต้น ได้แก่ น้ำหนักตายตัวหรือหรือน้ำหนักของโครงสร้าง และน้ำหนักบรรทุก แล้วจึงถ่ายน้ำหนักลงสู่โครงสร้างใต้ดินต่อไป ได้แก่ เสา คาน พื้น บันไดและโครงหลังคา มีรายละเอียดดังนี้

1. เสา (Column) คือ โครงสร้างที่วางแนวดิ่ง รับน้ำหนักต่อจากคาน แล้งจึงถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาตอม่อ
2. คาน (Beam) คือ โครงสร้างที่วางแนวนอน รับน้ำหนักจากผนัง พื้น โครงหลังคา และบันได แล้วจึงถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาและยึดตรึงเสาให้มั่นคง คานแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ คานหลัก คานรอง และคานยื่นเป็นต้น คานแบ่งตามตำแหน่งที่ตั้งได้ดังนี้

2.1 คานคอดิน (Ground Beam) คือ คานส่วนที่อยู่ล่างสุดของโครงสร้างทำหน้าที่ยึดตีนเสาให้มั่นคง
2.2 คานทั่วไป (Beam) คือ คานที่อยู่ระหว่างคานคอดินกับคานหลังคา
2.3 คานหลังคา (Roof Beam) คือ คานที่อยู่บนสุดของโครงสร้าง ทำหน้าที่รับโครงหลังคาและยึดหัวเสาให้มั่นคง
3. พื้น (Slab) คือ โครงสร้างพื้นคอนกรีต วางในแนวราบ รับน้ำหนักบรรทุกโดยตรงแล้วถ่ายน้ำหนักลงสู่คาน หรือดินรองรับใต้      พื้น พื้นแบ่งตามลักษณะการรับน้ำหนักออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ พื้นคอนกรีตวางบนดิน (ถนนคอนกรีตและพื้นชั้นล่างสุดของอาคาร) พื้นคอนกรีตวางบนคาน และพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปเป็นต้น
4. บันได (Stair) คือ โครงสร้างที่พาดในแนวเฉียงมีขั้นบันไดสำหรับเป็นทางเดินที่ต่างระดับกัน แต่ถ้าเป็นทางสำหรับรถยนต์และล้อเข็น เรียกว่า ทางลาด (Ramp) แบ่งตามลักษณะการรับน้ำหนักออกเป็น 2 ชนิดได้แก่ บันไดแบบวางบนดินและแบบวางบนคาน
5. หลังคา (Roof) คือ โครงสร้างส่วนที่อยู่บนสุดของอาคาร ทำหน้าที่กันแดด ลม ฝน หิมะ ฝุ่นละออง และความชื้น หลังคาบางชนิดทำหน้าที่เป็นผนังในตัว และบางชนิดสามารถขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้ รูปทรงหลังคามีหลากหลายชนิด เช่น หลังคาเพิง หลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยา หลังคาจั่วผสมปั้นหยา หลังคาทรงไทย หลังคาโดม หลังคาโค้ง และหลังคาแบน เป็นต้น

ส่วนประกอบของแปลนโครงสร้าง


การเขียนแปลนโครงสร้าง มีลักษณะการเขียนคล้ายการเขียนแปลนพื้นที่เริ่มต้นจากชั้นที่อยู่ต่ำที่สุด ถ้ามีชั้นใต้ดินก็จะเป็นชั้นที่อยู่ต่ำสุด ขึ้นไปหาชั้นที่อยู่สูงสุด และไปสิ้นสุดที่โครงหลังคา ตามลำดับ ส่วนประกอบแปลนโครงสร้างเบื้องต้น มีดังนี้

1.แปลนฐานรากและเสาตอม่อ คือ แบบที่แสดงตำแหน่งรูปร่างของฐานราก และเสาตอม่อ รวมทั้งตำแหน่งเสาเข็ม (ถ้ามี) โดยใช้สัญลักษณ์ตัวย่อและเลขหมายกำกับ เช่น F1,F2,F3…….GC1,GC2,GC3……..เป็นต้น
2. แปลนคานคอดิน เสา และพื้นชั้นล่าง คือ แบบที่แสดงตำแหน่งคานคอดิน เสา และ พื้นคอนกรีตวางบนดินโดยใช้สัญลักษณ์ตัวย่อ และเลขหมายกำกับ เช่น GB1,GB2…….C1,C2,C3…….GS1,GS2,GS3…….เป็นต้น
3. แปลนคานและพื้นชั้นทั่วไป คือ แบบที่แสดงตำแหน่งคาน เสา พื้นคอนกรีตวางบนคาน พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป และพื้นไม้วางบนตงไม้ชนิดต่างๆ โดยใช้ตัวย่อและเลขหมายกำกับ เช่น B1,B2,B3…..C1,C2,C3………S1,S2,S3…….(พื้นวางบนคาน) และ PS1,PS2…….(พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป) เป็นต้น
4. แปลนโครงหลังคา คือ แบบที่แสดงตำแหน่งคานหลังคาและโครงสร้างที่วางพาดบนคานหลังคา ได้แก่  โครงจันทันเอกหรือโครงถัก (Truss ตัวย่อ T) จันทันพราง อกไก่ แป สันตะเข้ และตะเข้ราง (รางน้ำ) สามารถแบ่งแยกเขียนออกเป็น 2 ตอน คือ เขียนเฉพาะแปลนคานหลังคา และเขียนแปลนโครงหลังคาจะทำให้อ่านแบบได้ง่ายขึ้นข้อควรจำ ในการเขียนแบบโครงสร้างบ้านพักอาศัยและอาคารขนาดเล็ก กรณีที่ไม่มีฐานรากเข็ม ได้แก่ การเขียนแปลนโครงสร้างในข้อ 1 และข้อ 2 จะเขียนรวมไว้ด้วยกันเป็นแปลนเดียวก็ได้ เรียกชื่อใหม่ว่า แปลนฐานราก เสา คานคอดิน และพื้นเป็นต้น

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแปลนโครงสร้าง


กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 มีดังนี้

1. การเขียนแปลนโครงสร้างต้องเขียนแสดงให้ครบทุกชั้นเรียงตามลำดับจากล่างสุดไปสิ้นสุดที่อยู่สูงสุด (โครงหลังคา)
2. มาตราส่วนที่เขียนใช้แปลนโครงสร้างต้องเป็นมาตราส่วนเดียวกันกับแปลนพื้น เช่น แปลนพื้นเขียนด้วยมาตราส่วน 1:100 แปลนโครงสร้างก็ต้องเขียนด้วยมาตราส่วน 1:100 เช่นกัน

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนแปลนโครงสร้าง


1. การจัดวางรูปแปลนโครงสร้าง ต้องจัดวางในลักษณะเดียวกันกับแปลนพื้น
2. ส่วนที่เป็นช่องบันได ไม่ต้องเขียนเป็นแปลนบันได แต่ให้เขียนเป็นเส้นทแยงมุมทับลงไป แล้วเขียนคำว่า ช่องบันได ทับจุดตัดเส้นทแยงมุมดังกล่าว รวมทั้งช่องเปิดอื่นๆ ได้แก่ ช่องลิฟต์ และช่องท่อ เป็นต้น
3. การเขียนตัวย่อพื้นห้องลงในแปลนโครงสร้าง ต้องจัดให้ได้กึ่งกลางพื้นที่ห้อง ถ้าเป็นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป ต้องแสดงทิศทางการวางพาดบนคาน
4. ตำแหน่งหน้าตัดเสาคอนกรีตในแปลนโครงสร้าง ให้ระบายดำทึบเต็มหน้าตัดเสายกเว้นกรณีเสาอยู่ใต้คาน (เสาไม่ได้โด่ทะลุหลังคาน) ให้เขียนเป็นรูปหน้าตัดเสาแล้วเขียนเป็นเส้นทแยงมุมทับหน้าตัดเสานั้น ไม่ว่าเสาสี่เหลี่ยมหรือเสากลม
5. การเขียนแบ่งระยะห่างของแปในแปลนโครงหลังคาจั่วและปั้นหยา สำหรับช่างเขียนแบบที่ด้อยประสบการณ์ จะใช้วิธีวัดระยะห่างจริงลงในแบบโดยตรง โดยคิดว่าเหมือนการวัดระยะในแนวราบ นับได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง กล่าวคือ แท้จริงความยาวจันทันเป็นระยะในแนวเฉียง จะทำให้แบบมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับจำนวนแปในแปลนโครงหลังคากับแบบรูปตัดที่มีจำนวนแปไม่เท่ากัน ที่ถูกต้องจะต้องเขียนเส้นร่างจำลองเป็นรูปตัดทับบนแปลนแสดงมุมหลังคาเหมือนรูปตัด แล้งจึงวัดระยะวางตำแหน่งแปเอียงตามความลาดจันทันจากตีนชายคาขึ้นไปสิ้นสุดที่สันหลังคา ต่อจากนั้นให้เขียนเป็นเส้นฉายลงมาสู่แปลนหลังคาตามลำดับ
6. การเขียนตะเข้สันและตะเข้รางในแปลนโครงหลังคา มุมเฉียงของตะเข้สัน ตะเข้ราง ต้องเป็นมุมเฉียง 45 องศา เท่านั้น สาเหตุเพราะถ้าเป็นมุมเฉียงอื่นที่มากหรือน้อยกว่านี้ จะทำให้หัวของแปที่มาบรรจบกันตรงตะเข้สันและตะเข้รางเหลื่อมล้ำกัน ซึ่งจะมีผลต่อจำนวนแถวแต่ละด้านของหลังคาจะไม่เสมอกัน
7. การเขียนชื่อคานที่วางทับซ้อนในแนวเดียวกัน เช่น คานชั้นบนอยู่แนวเดียวกับคานชานพักบันได หรือคานชานพักบันไดอยู่แนวเดียวกับคานชั้นล่าง หรืออกไก่คอนกรีตอยู่แนวเดียวกับคานหลังคาให้เขียนเครื่องหมายทับ (/) ลงไป ให้คานที่อยู่ต่ำกว่าอยู่หลังเครื่องหมาย ตัวอย่างเช่น B1/GB1 แสดงว่า คาน B1 อยู่ข้างบนคาน GB1 เป็นต้น ในกรณีมีคานอีกตัวอยู่ต่ำกว่าคานทั้งหมด ให้เขียนเครื่องหมายทับหน้าหมายเลขคานอย่างเดียว ตัวอย่าง เช่น เขียนว่า /GB2 อยู่ต่ำกว่าคานทั้งหมด

แบบขยายรายละเอียดทางวิศวกรรม

แบบขยายรายละเอียดทางวิศวกรรม

แบบขยายรายละเอียดทางวิศวกรรม


งานวิศวกรรมโครงสร้างที่วิศวกรได้กำหนดขึ้น เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยของตัวอาคารเป็นหลัก เริ่มจากใต้ดินขึ้นมาเหนือดินไปสิ้นสุดที่หลังคาของโครงสร้างไม้ โครงสร้างเหล็ก และ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ไม่สามารถเขียนแสดงเป็นมาตราส่วนปกติได้ เนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยมากจะต้องนำมาเขียนแยกขยายต่างหาก ซึ่งเปรียบเหมือนการมองผ่านแว่นขยายให้มองเห็นได้อย่างละเอียดชัดเจน


1. ความหมายของแบบขยายรายละเอียดทางวิศวกรรม


แบบขยายรายละเอียดทางวิศวกรรม หมายถึง แบบที่แสดงรายละเอียดในบางจุด ที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมโครงสร้าง ในแปลนพื้น รูปด้าน รูปตัด ที่เขียนแสดงด้วยมาตราส่วนขยายให้ใหญ่โตขึ้น เพื่อให้เกิดความละเอียดชัดเจนในเชิงลึก เขียนแสดงตัดตอนออกมาเป็นรูปแปลน รูปด้าน รูปตัด และภาพ 3 มิติ ด้วยการใช้สัญลักษณ์ เส้น ตัวย่อ ตัวเลข ตัวอักษร และมาตราส่วน รวมกันเพื่อใช้สื่อความหมาย


2. การแบ่งประเภทของแบบขยายรายละเอียดทางวิศวกรรม


แบบขยายรายละเอียดทางวิศวกรรมโครงสร้าง โดยทั่วไปเป็นแบบรูปที่เขียนด้วยมาตราส่วนขยายขนาดโตประกอบคำบรรยายในเชิงลึก แบ่งออกได้ดังนี้2.1 แบบขยายเฉพาะจุด ได้แก่ แบบขยายที่ตัดตอนออกมาเฉพาะตามรายการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง เช่น แบบขยายรอยต่อ รอยเชื่อม ของโครงสร้างไม้ โครงสร้างเหล็ก และคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นต้น2.2 แบบขยายที่กฎหมายกำหนดขึ้น ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 ตัวอย่างเช่น แบบขยายรูปหน้าตัดโครงสร้างแบบขยายรายละเอียดการเสริมเหล็กงานคอนกรีต เช่น เสาเข็ม ฐานราก เสา คาน พื้น ผนัง บันได โครงหลังคา และขยยายอื่นๆตามความเหมาะสม


3. รายละเอียดเกี่ยวกับเหล็กเสริมคอนกรีต


เหล็กเสริมงานคอนกรีตหรือเหล็กเส้น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.20-2527) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ (RB)และเหล็กเส้นข้ออ้อย(DB)เหล็กเส้นกลมSR24RB6 ø 6 ม.ม.RB9 ø 9 ม.ม.RB12ø 12 ม.ม.RB15ø 15 ม.ม.RB19ø 19 ม.ม.RB22ø 22 ม.ม.RB25ø 25 ม.ม.เหล็กเส้นข้ออ้อยSD 30,40,50DB10 ø 10 ม.ม.DB12 ø 12 ม.ม.DB16 ø 16 ม.ม.DB20 ø 20 ม.ม.DB22 ø 22 ม.ม.DB25 ø 25 ม.ม.DB28 ø 28 ม.ม.วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (ว.ส.ท.) ได้กำหนดรายละเอียดบางประการ เกี่ยวกับการเสริมเหล็กในคอนกรีตที่ควรทราบ ดังนี้


3.1 เหล็กแกนในเสาเหลี่ยม ต้องมีจำนวนอย่างน้อย 4 เส้น ไม่น้อยกว่า Ø 12 มิลลิเมตร  และในเสากลมต้องมีจำนวนอย่างน้อย 6 เส้น ไม่น้อยกว่า Ø 12 มิลลิเมตร

3.2 เหล็กปลอกในเสาและคาน ไม่น้อยกว่า Ø 6 มิลลิเมตร ระยะห่างต้องไม่เกินกว่าด้านที่แคบที่สุดของเสาและคาน

3.3 ความหนาของคอนกรีตห่อหุ้มเหล็กเส้น สำหรับงานโครงสร้างใต้ดินที่สัมผัสดินและน้ำโดยตรง ไม่น้อยกว่า 7 เซนติเมตร และโครงสร้างเหนือดินไม่น้อยกว่า 2.50-3 เซนติเมตร

3.4 ระยะการทาบต่อเหล็กเสริมแบบต่อทาบ ระยะทาบไม่น้อยกว่า 50 เท่า ของเส้นผ่านศูนย์กลาง(ไม่งอปลาย)และ 40 เท่า ของเส้นผ่านศูนย์กลาง(งอปลาย) ให้ยึดรอยต่อด้วยลวดผูกเหล็ก ยกเว้นเหล็กที่มีตั้งแต่ Ø 25 มิลลิเมตร ขึ้นไปให้ต่อด้วยวิธีการต่อชน ยึดรอยต่อด้วยการเชื่อม และห้ามต่อในบริเวณเดียวกันเกินกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนเหล็กเส้น

3.5 ระยะห่างแคบสุดระหว่างเหล็กแกนในคอนกรีต ไม่น้อยกว่า 25 มิลลิเมตร


4. รายละเอียดเกี่ยวกับเหล็กรูปพรรณ


งานโครงสร้างในปัจจุบัน นิยมใช้เหล็กรูปพรรณ เนื่องจากมีความแข็งแรงทนทาน และมีราคาที่ประหยัดกว่าไม้ เหล็กรูปพรรณในงานโครงสร้าง มีหน้าตัดเป็นรูปต่างๆและความหนาเป็นมิลลิเมตร ยาวท่อนละ 6 เมตร ได้แก่ 1.เหล็กปีกกว้าง (Wide Flange) 2.เหล็กตัวไอ (I) 3.เหล็กฉาก (Angle) 4.เหล็กรางน้ำ(Channel) 5.เหล็กตัวชี (C) 6.เหล็กรางรถไฟ (Crane Rails) 7.เหล็กกล่อง (Steel Tube) 8.เหล็กแท่งตัน (Steel Bar)                                                                                                                        

เทคนิคการเขียนรูปตัดบันได

เทคนิคการเขียนรูปตัดบันได

เทคนิคการเขียนรูปตัดบันได


การเขียนรูปตัดบันได สำหรับช่างเขียนแบบที่ฝึกเขียนครั้งแรกที่พบเห็นบ่อยมี 2 ประการ คือ แบ่งจำนวนขั้นบันไดไม่เป็น และจัดระยะความสูงขั้นบันไดออกมามีขนาดไม่เท่ากัน สาเหตุเพราะขาดทักษะในการเขียน เทคนิคการเขียนรูปตัดบันได มีดังนี้


1. ต้องทราบข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับบันไดบ้านพักอาศัย ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 ที่กำหนดให้บันไดของบ้านพักอาศัย ต้องกว้างไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ลูกตั้งมีความสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร  ลูกนอนกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร  แต่ระยะที่เหมาะสมที่สุด และเขียนแบบได้สะดวกรวดเร็วคือ กว้าง 25 เซนติเมตร

2. ระยะความสูงจากหลังพื้นชั้นล่างถึงหลังพื้นชั้นบน สูงเท่าไหร่ เช่น สูง 3.20 เมตร จะมีจำนวนขั้นบันไดกี่ขั้น ทำได้โดย 3.20%0.20=16 ขั้น ที่ความสูงลูกตั้ง 20 เซนติเมตร  แต่ถ้าต้องการความสูงที่น้อยกว่านี้ แสดงว่าต้องมีจำนวนขั้นมากกว่า 16ขั้น นั่นก็คือ 17 ขั้น ทำได้โดย3.20%17=0.188 เมตร หรือ 18.8 เซนติเมตร ถ้าต้องการ 18 ขั้น ก็ให้เอา 3.20%18=0.178 เมตร หรือ 17.8 เซนติเมตร เป็นต้น

3. การนับจำนวนขั้นบันได ถ้าบันไดมีชานพักก็ให้นับรวมเอาชานพักบันไดเข้าไปด้วยอีก 1 ขั้น การจัดตำแหน่งชานพักบันไดก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ตำแหน่งกึ่งกลางความสูงของบันได สามารถจัดให้อยู่ค่อนไปทางพื้นชั้นบนหรือพื้นชั้นล่างก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ประโยชน์บริเวณใต้พื้นชานพักบันไดที่เข้าไปใช้ได้โดยสะดวกที่ไม่ต้องก้มศรีษะ เช่น ใช้เป็นห้องเก็บของ หรือห้องน้ำ เป็นต้น การนับจำนวนขั้นบันได ให้นับรวมเอาพื้นชั้นใดชั้นหนึ่งรวมเข้าไปด้วย 1 ขั้น เช่น กรณีเริ่มต้นนับขั้นที่ 1 เป็นพื้นชั้นล่าง ดังนั้นบันไดขั้นสุดท้ายก็ต้องเป็นขั้นบันไดก่อนถึงพื้นชั้นบน ในทำนองเดียวกันถ้านับขั้นที่ 1 ที่เป็นขั้นบันไดแรกของชั้นล่าง ดังนั้นบันไดขั้นสุดท้ายก็คือ พื้นชั้นบน เป็นต้น

4. เมื่อทราบจำนวนขั้นบันไดที่ต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การเขียนแบบแบ่งจำนวนขั้นบันไดให้ได้ระยะตามต้องการ ตัวอย่างเช่น ต้องการเขียนรูปตัดบันไดที่มีระยะความสูงหลังพื้นชั้นล่างถึงหลังพื้นชั้นบน 3.20 เมตร มีจำนวนขั้นลูกนอนบันได 18 ขั้น สูงขั้นละ 17.8 เซนติเมตร ลูกนอนบันไดกว้างขั้นละ 25 เซนติเมตร มีขั้นตอนการเขียนดังนี้

4.1 เขียนเส้นนอนระดับพื้นชั้นล่างและระดับพื้นชั้นบน ที่ระยะ 3.20 เมตร ตามมาตราส่วนที่กำหนดให้

4.2 นำบรรทัดมาตราส่วนใดก็ได้ ที่มิใช่มาตราส่วนที่ใช้เขียน มาทาบโย้โดยให้เลขศูนย์ (0) ของมาตราส่วนทับเส้นหลังพื้นชั้นล่างพอดี ต่อจากนั้นให้เอียงโย้ตัวบรรทัดให้เลข 18 ทับเส้นหลังพื้นชั้นบนพอดี ให้ทดสอบหลายๆมาตราส่วน โดยจัดโย้ให้ใกล้เคียงแนวดิ่งมากที่สุด เมื่อได้แล้วก็ให้ใช้ดินสอจุดทำเครื่องหมายตามระยะหมายเลขมาตราส่วน เขียนเส้นนอนทับจุดดังกล่าว จะได้จำนวนขั้นบันได 18 ขั้น ตามต้องการที่มีระยะห่างเท่ากัน คือ 17.8 เซนติเมตร

4.3 ต่อจากนั้นจึงเขียนเส้นดิ่งระยะห่าง 25 เซนติเมตร เป็นรูปตารางตัดกับเส้นนอนที่เขียนไปครั้งแรก กำหนดตำแหน่งที่ตั้งชานพักบันไดกว้าง 1.20 เมตร

4.4 เขียนเส้นนอนแสดงหลังขั้นลูกนอนบันไดตามลำดับในตาราง  แล้วจึงเขียนเส้นดิ่งแสดงลูกตั้งให้เห็นได้ชัดเจน

4.5 เขียนแม่บันไดหรือท้องบันไดให้เอียงไปตามขั้นบันไดพาดจากพื้นชั้นล่างถึงชานพักและจากชานพักถึงพื้นชั้นบน ตามลำดับ

4.6 เขียนราวบันไดหรือราวมือจับ ด้วยฉากปรับมุม ปรับให้ขนานกับท้องบันได (ไม่ต้องอ่านค่ามุมองศา) แล้วจึงนำมาทาบเขียนราวบันได ต่อจากนั้นจึงเขียนลูกกรงบันไดเป็นขั้นตอนสุดท้าย

ข้อควรจำ การเขียนรูปตัดบันไดไม่ว่าจะเป็นบันไดไม้ บันไดเหล็ก และบันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก ห้ามเขียนท้องบันไดก่อน ด้วยการปรับมุมความลาดตามระยะพาดบันไดตามความเข้าใจของตนเอง จะทำให้เขียนรูปตัดบันไดไม่ได้

รายละเอียดประกอบแบบไฟฟ้า

รายละเอียดประกอบแบบไฟฟ้า

งานระบบอาคาร


12.1 ชนิดของงานระบบอาคาร


อาคารแต่ละชนิด ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับงานระบบที่แตกต่างกันตามจุดประสงค์ของการใช้งานของอาคาร ชนิดของงานระบบอาคารในเบื้องต้น แบ่งออกได้โดยสังเขป ดังนี้
 
1. ระบบสุขาภิบาล
2. ระบบไฟฟ้า
3. ระบบโทรศัพท์ภายในและการติดต่อสื่อสาร
4. ระบบป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า
5. ระบบปรับอากาศและการควบคุมอุณหภูมิ
6. ระบบระบายอากาศ
7. ระบบดับเพลิงและสัญญาณเตือนภัย
8. ระบบบำบัดน้ำเสีย
9. ระบบป้องกันเสียงสะท้อน
ในบทนี้จะขอกล่าวเบื้องต้นโดยสังเขป 2 ระบบ คือ ระบบสุขาภิบาลและระบบไฟฟ้าสำหรับบ้านพักอาศัย

12.2 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานระบบอาคาร


กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานระบบอาคารที่ควรทราบเป็นพื้นฐานเบื้องต้นมีดังนี้

12.2.1. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร 2522 กำหนดให้งานเขียนแบบเพื่อขออนุญาตปลูกสร้างอาคารต้องแสดงรายละเอียด ดังต่อไปนี้
12.2.1.1 แบบแปลนงานระบบสุขาภิบาล ได้แก่ การระบายน้ำทิ้ง ท่อน้ำทิ้งต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า Ø 4 นิ้ว มีความลาดเอียง (Slope) ไม่น้อยกว่า 1:200 มีบ่อพักทุกระยะไม่เกิน 12 เมตร หรือทุกมุมหักเลี้ยว และการกำจัดสิ่งปฏิกูลจากโถส้วม กำหนดให้บ่อส้วมที่เป็นบ่อซึมต้องอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 10 เมตร  และห้ามต่อท่อจากบ่อส้วมลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะโดยตรง ยกเว้นน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการบำบัดจากน้ำเสียให้เป็นน้ำทิ้ง กรณีเป็นอาคารขนาดใหญ่ต้องให้วิศวกรสุขาภิบาลระดับสามัญวิศวกรขึ้นไปเป็นผู้ออกแบบ และกำหนดรายละเอียดดังกล่าว
12.2.1.2 แปลนหรือผังงานไฟฟ้าทุกชั้นใช้มาตรฐานข้อกำหนดของการไฟฟ้า กรณีเป็นอาคารขนาดใหญ่ต้องให้วิศวกรไฟฟ้าเป็นผู้ออกแบบ และกำหนดรายละเอียดดังกล่าว มาตราส่วนที่ใช้เขียนเป็นมาตราส่วนเดียวกันกับการเขียนแบบแปลนพื้น
12.2.1.3 อาคารสาธารณะขนาดใหญ่และขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีระบบปรับอากาศ ระบบดับเพลิง และสัญญาณเตือนภัย ต้องแสดงแผนผังรายละเอียดประกอบแบบทุกชั้น มีวิศวกรตามสาขางานที่เกี่ยวข้องระดับสามัญวิศวกรขึ้นไปเป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบ และการใช้มาตราส่วนที่ใช้เขียนเป็นมาตราส่วนเดียวกันกับการเขียนแบบแปลนพื้น
12.2.2 สำนักงานพลังงานแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานของการออกแบบระบบการป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าหรือสายล่อฟ้า
12.2.3 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535
12.2.4 พระราชบัญญัติโรงงาน 2535
12.2.5 ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

12.3 ความหมายของงานระบบสุขาภิบาล


งานระบบสุขาภิบาล (Sanitary System) หมายถึง งานที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับท่อต่างๆได้แก่ ท่อประปาหรือท่อน้ำดี ท่อน้ำทิ้ง ท่อหรือรางระบายน้ำ ท่อโสโครกหรือท่อส้วม ท่อน้ำฝน และท่ออากาศ รวมไปถึงการกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือบำบัดน้ำเสีย ให้เป็นน้ำทิ้ง แล้วจึงนำไปปล่อยทิ้งในจุดปล่อยที่เหมาะสมโดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ขัดต่อกฎหมาย แสดงออกมาด้วยการใช้สัญลักษณ์ เส้น ตัวย่อ ตัวอักษร และมาตราส่วนประกอบกันเพื่อสื่อความหมาย

12.4 ท่อในงานระบบสุขาภิบาล


การกำหนดชนิดและขนาดของท่อในงานระบบสุขาภิบาล มี 4 ชนิด คือ ท่อน้ำดี ท่อน้ำทิ้ง ท่อโสโครก และท่ออากาศ มีรายละเอียดดังนี้

12.4.1 ท่อน้ำดีหรือท่อประปา (Cold Water Pipe) คือ ท่อที่นำน้ำสะอาดปลอดภัยสำหรับการอุปโภค การบริโภค เข้ามาใช้ในอาคาร ได้แก่ ท่อเหล็กอาบสังกะสี ท่อพีวีซีสีฟ้า และท่อพีบี เป็นต้น ขนาดของท่อน้ำดีสำหรับบ้านพักอาศัยท่อเอก Ø3/4-1 นิ้ว ขนาดของท่อย่อยต่อเข้าก๊อกน้ำและสุขภัณฑ์ Ø1/2-3/4 นิ้ว ตามลำดับ ส่วนท่อสำหรับท่อน้ำร้อน จะใช้ท่อทองแดงห่อหุ้มด้วยฉนวนกันความร้อน เป็นต้น
12.4.2 ท่อน้ำทิ้ง (Waste Pipe) คือ ท่อที่รับน้ำทิ้ง (น้ำที่ปราศจากกลิ่น) ที่ผ่านการใช้งานจากห้องน้ำ ห้องครัว รวมทั้งน้ำฝน นำออกไปทิ้งยังจุดปล่อยที่เหมาะสม เช่น ท่อน้ำทิ้งสาธารณะ แม่น้ำ ลำคลอง บึง และทะเล เป็นต้น ได้แก่ ท่อคอนกรีต ท่อพีวีซีสีเทา ท่อใยหินเส้น Ø 2-4 นิ้ว และรางระบายน้ำติดตั้งที่ความลาดเอียงที่กฎหมายกำหนดไม่น้อยกว่า 1:200
12.4.3 ท่อโสโครกหรือท่อส้วม (Soil Pipe) คือ ท่อที่รับน้ำเสียจากโถส้วม โถปัสสาวะ สำหรับต่อระบายลงสู่บ่อเกรอะหรือบ่อบำบัดน้ำเสีย ได้แก่ ท่อเหล็กหล่อและท่อพีวีซีสีเทา Ø 4 นิ้ว ที่ความลาดเอียง 1:50
12.4.4 ท่ออากาศ (Vent Pipe) คือ ท่อว่างเปล่าปลายเปิด สำหรับนำอากาศเข้าออกป้องกันมิให้เกิดปัญหากาลักน้ำในคอห่านสุขภัณฑ์ และเพื่อให้เกิดความสมดุลของแรงดันอากาศภายในท่อน้ำทิ้งและท่อโสโครก ทำให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ท่ออากาศประจำสุขภัณฑ์ นิยมใช้ท่อพีวีซีสีเทา Ø 1 นิ้ว และท่ออากาศรวม Ø 2-3 นิ้ว เป็นต้น เนื่องจากน้ำทิ้งมีตะกอนจำนวนมากที่อาจก่อปัญหาการอุดตันภายในท่อ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีช่องบริการสำหรับเปิดล้างท่อ (Clean Out) ไว้ที่พื้นห้อง ฝาผนังหรือบนฝ้าเพดาน ตามความเหมาะสม


12.5 บ่อเกรอะบ่อซึม


บ่อเกรอะบ่อซึมหรือบ่อส้วม (Septic Tank) คือ บ่อที่รับของเสียจากโถส้วมและโถปัสสาวะผ่านทางท่อโสโครก ระบายลงสู่บ่อเกรอะ ในบ่อเกรอะมีจุลินทรีย์ตามธรรมชาติช่วยย่อยสลายกำจัดส่วนที่เป็นกาก ให้เหลือแต่ส่วนที่เป็นน้ำ ไหลลงสู่บ่อซึมเพื่อกระจายซึมสู่ผิวดินตามธรรมชาติต่อไป เหมาะสำหรับพื้นดินที่น้ำซึมผ่านได้ดีลักษณะของบ่อเกรอะ เป็นบ่อซีเมนต์แบบหล่อในที่หรือจะใช้ถังกลมสำเร็จรูปตามท้องตลาดมาวางซ้อนต่อกันเทพื้น และอุดรอยต่อให้สนิทกันมิให้น้ำซึมเข้าออกได้ ส่วนบ่อซึมจะเป็นลักษณะของบ่อผนังก่ออิฐโปร่งหรือใช้ถังกลมสำเร็จเหมือนบ่อเกรอะแต่ให้เจาะรูพรุนโดยรอบ เพื่อทำให้น้ำซึมเข้าออกได้โดยสะดวก กรณีดินดังกล่าวซึมน้ำได้ไม่ดี อาจต้องมีบ่อซึมมากกว่า 1 บ่อปัจจุบันมีบ่อบำบัดสำเร็จรูปทำจากพีวีซีออกจำหน่าย ที่ได้รับรองมาตรฐานจากหน่วยงานราชการ ให้นำมาติดตั้งแทนการสร้างบ่อเกรอะบ่อซึมที่สะดวกรวดเร็ว และยังสามารถต่อท่อน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้โดยตรง โดยไม่ผิดกฎหมาย

12.6 บ่อพักน้ำทิ้ง


บ่อพักน้ำทิ้งหรือบ่อตรวจ (Man Hole) คือ บ่อสำหรับดักขยะหรืดักตะกอนที่ไหลปนมาตามท่อน้ำทิ้งหรือรางระบายน้ำทิ้ง กั้นมิให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำหรือท่อน้ำทิ้งสาธารณะ มีลักษณะเป็นบ่อซีเมนต์สี่เหลี่ยม มีฝาปิดเป็นซี่ตะแกรงเหล็กหรือฝาซีเมนต์ทึบ ที่สามารถหล่อขึ้นเอง ปัจจุบันมีจำหน่ายเป็นบ่อพักซีเมนต์สำเร็จรูปตามท้องตลาด ทั้งนี้กฎหมายควบคุมอาคาร กำหนดให้ท่อน้ำทิ้งและรางระบายน้ำทิ้งต้องมีบ่อพักทุกระยะไม่เกิน 12 เมตร และมีทุกมุมหักเลี้ยว

12.7 บ่อดักไขมัน


บ่อดักไขมัน (Grease Tank) คือ บ่อสำหรับดักหรืกั้นมิให้สารที่แขวนลอยไหลปนมากับน้ำทิ้ง ประเภทไขมันจากครัวเรือน คราน้ำมัน และสารแขวนลอยอื่นๆ กั้นมิให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำหรือท่อน้ำทิ้งสาธารณะ มีลักษณะเป็นบ่อซีเมนต์สี่เหลี่ยมแบ่ง 2 ตอน มีฝาปิดเป็นฝาซีเมนต์ทึบ ที่สามารถหล่อขึ้นเองและมีจำหน่ายเป็นบ่อพีวีซีสำเร็จรูปตามท้องตลาด ทั้งนี้กฎหมายควบคุมอาคาร กำหนดให้ท่อน้ำทิ้ง และรางระบายน้ำทิ้งต้องมีบ่อดักไขมันไว้ที่ส่วนปลายสุดของท่อ ก่อนที่จะระบายลงสู่แหล่งน้ำทิ้งสาธารณะต่อไป

12.9 ความหมายของแปลนไฟฟ้า


แปลนไฟฟ้าหรือผังไฟฟ้า หมายถึง แบบรูปที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับงานระบบไฟฟ้าในทางราบ ที่กำหนดโดยวิศวกรไฟฟ้า ด้วยการใช้สัญลักษณ์งานไฟฟ้า เส้น ตัวย่อ ตัวเลข และมาตราส่วนประกอบกันเพื่อสื่อความหมายที่มีแปลนพื้นเป็นต้นแบบ

12.10 รายละเอียดที่แสดงในแปลนไฟฟ้า


รายละเอียดที่แสดงในแปลนไฟฟ้า สำหรับบ้านพักอาศัยมีดังนี้

12.10.1 แผงควบคุมไฟฟ้า (Main Board) คือ อุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมการใช้กระแสไฟฟ้า เช่น ป้องกันการใช้ไฟฟ้าเกินพิกัดที่ต้องการ ตักกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ กรณีไฟฟ้าลัดวงจรที่ไม่ต้องใช้ฟิวส์ และตัดกระแสไฟฟ้าตามต้องการ (ใช้มือกด) เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน มีส่วนประกอบดังนี้
12.10.1.1 สวิตช์ตัดกระแสไฟฟ้าหลัก (Safety Switch) เป็นอุปกรณ์ที่รับกระแสไฟฟ้าต่อจากมิเตอร์ไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้กับสวิตช์ตัดกระแสไฟฟ้ารอง กล่าวคือ สายไฟฟ้าจากมิเตอร์เข้ามายังอาคารต้องผ่านอุปกรณ์ชนิดนี้ก่อน ทั้งอาคารจะมีเพียงตัวเดียว จะทำหน้าที่ตัดกระแสไฟฟ้าหลักโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจร หรือใช้กรณีกระแสไฟฟ้าเกินพิกัด เช่น 45,63,70,80และ100 แอมแปร์ ตามลำดับ และตัดกระแสไฟหรือดับไฟฟ้ากรณีฉุกเฉินทั่วทั้งอาคารเมื่อต้องการ
12.10.1.2 สวิตช์ตัดกระแสไฟฟ้ารอง (Breaker Switch) เป็นอุปกรณ์ที่รับกระแสไฟฟ้าต่อจากสวิตช์ตัดกระแสไฟฟ้าหลัก ทำหน้าที่ควบคุมกระแสไฟฟ้าย่อย เพื่อจ่ายให้กับในแต่ละส่วนของอาคารหรืแต่ละชั้นของอาคาร หรือในแต่ละห้อง จะทำหน้าที่ตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ เมื่อมีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นในวงจรย่อย เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร กระแสไฟฟ้าไหลรั่วลงดิน กระแสไฟฟ้าเกินพิกัด เช่น 10,16,20,32 และ 45 แอมแปร์ ตามลำดับ และตัดกระแสไฟย่อยกรณีฉุกเฉินเมื่อต้องการ ในปัจจุบันแผงควบคุมไฟฟ้ามีทั้งแบบแยกเป็น 2 ส่วน และชนิดที่รวมอยู่ในกล่องเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของวิศวกรไฟฟ้า ไฟฟ้าเข้า มิเตอร์ไฟฟ้าของการไฟฟ้า  สวิทช์ตัดไฟหลัก สวิทช์ตัดไฟรองวงจรที่1,2,3,4,5,6

ข้อกำหนดของการไฟฟ้า


กำหนดให้ตำแหน่งการติดตั้งแผงควบคุมไฟฟ้าให้ติดตั้งอยู่ในส่วนที่เข้าถึงได้โดยสะดวก ไม่อยู่ในห้องส่วนตัว โดยทั่วไปจะอยู่ในห้องโถง กรณีเป็นอาคารหลายชั้นจะอยู่บนบริเวณชานพักบันไดและให้ขอบล่างอยู่สูงจากพื้นห้องไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
12.10.2 ดวงโคมไฟฟ้า (Lighting) เป็นอุปกรณ์สำหรับให้แสงสว่าง มีแบบให้เลือกมากมายหลากหลายชนิด เช่น แบบติดเพดาน แบบแขวนห้อยเพดาน แบบฝังในฝ้าเพดาน แบบโคมไฟกิ่งสำหรับติดผนังและโคมไฟฟ้าสำหรับงานภายนอกอาคาร เช่น โคมไฟสนาม โคมไฟติดเสารั้ว โคมไฟถนน โคมไฟใต้น้ำ และโคมไฟสำหรับงานตกแต่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบ วัตถุประสงค์ การใช้งาน
12.10.3 สวิตช์ไฟฟ้า (Switch) เป็นอุปกรณ์สำหรับเปิดปิดกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ดวงโคม สวิตช์ไฟฟ้าตัวเดียว เปิดปิดกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ดวง เรียกว่า “สวิตช์แบบทางเดียว”กรณีที่มีดวงโคม 1 ดวง มีสวิตช์เปิดปิด 2 ตัว เรียกว่า “สวิตช์แบบ 2 ทาง”เช่น กรณีของสวิตช์บันไดสำหรับบ้านพักอาศัย 2 ชั้น จะมีสวิตช์ชั้นล่าง 1 ตัว ชั้นบนอีก 1 ตัว และมีดวงโคมไฟฟ้าเหนือชานพักบันได 1 ดวงเป็นต้นข้อกำหนดของการไฟฟ้า กำหนดให้ตำแหน่งการติดตั้งสวิตช์ไฟฟ้าที่เหมาะสม เข้าถึงได้สะดวก สูงจากพื้นห้องประมาณ 1.20 เมตร และอยู่ในส่วนที่ใกล้ประตูทางเข้าออก
12.10.4 เต้ารับ (Receptacle) เป็นอุปกรณ์สำหรับเสียบปลั๊กไฟฟ้า บริการให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เคลื่อนยายได้ กำหนดให้อยู่ตำแหน่งเดียวกันกับสวิตช์ไฟฟ้า หรืออาจแยกไว้ต่างหาก ข้อกำหนดของการไฟฟ้า กำหนดให้ตำแหน่งของการติดตั้งเต้ารับไฟฟ้าที่เหมาะสม เข้าถึงได้สะดวก อยู่สูงจากพื้นห้องประมาณ 30 เซนติเมตร
12.10.5 อุปกรณ์ไฟฟ้าประเภทติดตั้งอยู่กับที่ เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้เสียบต่อเข้ากับเต้ารับไฟฟ้าโดยตรง ติดตั้งกับที่แบบตายตัว ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องสูบน้ำชนิดติดตั้งกับที่ พัดลมติดเพดาน พัดลมติดผนัง พัดลมดูดอากาศ และพัดลมระบายอากาศ เป็นต้น
12.10.6 จุดต่อบริการอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ได้แก่ เต้ารับสายอากาศเครื่องรับโทรทัศน์ และเต้ารับสายโทรศัพท์ภายนอกและโทรศัพท์ภายใน ตำแหน่งระยะความสูงการติดตั้งเท่ากับเต้ารับไฟฟ้า คือ 30 เซนติเมตร
12.10.7 แผนภูมิไฟฟ้า (Single Line Diagram) จะแสดงควบคู่กับตารางการใช้ไฟฟ้า (Load Schedule) เป็นรายการที่ได้จากการออกแบบของวิศวกรไฟฟ้า ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ ขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้า ค่าพิกัดของกระแสไฟฟ้าหลัก สวิตช์ตัดไฟหลัก การแบ่งจำนวนวงจรไฟฟ้าย่อย สวิตช์ตัดไฟย่อยอัตโนมัติพร้อมค่าพิกัดกระแสไฟฟ้า ชนิดและขนาดของสายไฟฟ้าหลัก ไฟฟ้าย่อย และสายดินเป็นต้น
12.10.8 มาตรฐานรายละเอียดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่ ขนาด ชนิด และมาตรฐานของสายไฟฟ้า การฟาดสายไฟฟ้าเข้ามาในอาคาร การติดตั้งสายไฟฟ้าแบบเกาะติดผนัง แบบร้อยในท่อ และแบบฝังในผนัง ในพื้น การต่อเชื่อมสายไฟฟ้าในบ้านเข้ากับสายไฟฟ้าแรงต่ำของการไฟฟ้า การต่อสายดิน ทั้งนี้กรณีบ้านพักอาศัยขนาดเล็กให้ใช้ข้อกำหนดของการไฟฟ้า แต่ถ้าเป็นอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารสาธารณะ วิศวกรไฟฟ้าจะเป็นผู้ออกแบบระบบไฟฟ้าและรายการประกอบแบบไฟฟ้า ดังกล่าว

รายการประกอบแบบ

รายการประกอบแบบ

รายการประกอบแบบ


รายการประกอบแบบ บ้านพักอาศัยชั้นเดียว 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ รายการใดก็ตามที่ไม่ได้ระบุไว้ให้กำหนดเอารายการในรูปแบบในเล่มเป็นเกณฑ์ ส่วนใดของรูปแบบไม่ชัดเจน รูปแบบขัดแย้งกันเองให้ปรึกษาสถาปนิกหรือวิศวกรผู้ออกแบบโดยตรง การวัดระยะจากรูปแบบควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจจะทำให้คลาดเคลื่อนได้ ให้ดูจากตัวเลขที่กำกับแบบ หรือปรึกษาผู้ออกแบบ การก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบรูปและรายการ ผู้รับจ้างต้องแก้ไขงานให้ถูกต้องโดยไม่มีเงื่อนไข หรือข้อแม้ใดๆ จะอ้างเหตุนี้เพื่อขอต่อสัญญา หรือคิดค่าจ้างไม่ได้รายการประกอบแบบบ้านพักอาศัย มีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

 

1. การกำหนดระดับความสูงของบ้าน ให้กำหนดจากระดับหลังศูนย์กลางถนนสาธารณะหน้าบ้านเป็นระดับ +0.00 เมตร หรือให้เจ้าของบ้านเป็นผู้กำหนด

2. การถมดินในบริเวณที่ก่อสร้าง ให้ขุดตอไม้ รากไม้ ก้อนหินขนาดใหญ่ที่กีดขวางหลุม ฐานราก และฐานรากอาคารเดิมออกก่อนทำการก่อสร้าง ก่อนถมดินต้องดายหญ้า แล้วจึงถมดินเป็นชั้นๆ หนาชั้นละประมาณ 30 เซนติเมตร โดยแต่ละชั้นต้องพรมน้ำให้ชุ่ม แล้วใช้เครื่องบดอัดดินกระทุ้งแน่นเป็นชั้นๆจนได้ระดับความสูงตามต้องการ

3. มาตรฐานฝีมือช่าง ฝีมือช่างแต่ละประเภทที่นำมาก่อสร้าง ต้องมีใบผ่านการทดสอบจากกรมแรงงานเป็นอย่างต่ำ เป็นช่างฝีมือมีคุณภาพชั้น 1 แบ่งตามประเภทช่างต่างๆถ้าเป็นช่างที่ไร้คุณภาพ เจ้าของบ้านและผู้ควบคุมงานมีสิทธิบอกเปลี่ยนใหม่ได้

4. วัสดุก่อสร้าง ผู้รับจ้างจะต้องออกค่าใช้จ่าย ในการจัดหา ดำเนินการ เกี่ยวกับวัสดุ แรงงานเครื่องมือ น้ำประปา ไฟฟ้า และสิ่งจำเป็นในการก่อสร้าง วัสดุก่อสร้างทุกชนิดต้องเป็นของใหม่ไม่ชำรุด แตกร้าว เสื่อมคุณภาพ มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ถ้ามีการเสียหายในระหว่างการก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบแก้ไข เปลี่ยนให้ใหม่โดยไม่คิดมูลค่า ก่อนติดตั้ง ผู้รับจ้างต้องส่งตัวอย่างวัสดุให้ผู้ควบคุมงาน และเจ้าของบ้านทำการตรวจสอบทุกครั้ง

5. งานคอนกรีตโครงสร้าง กำหนดให้ใช้อัตราส่วนผสมคอนกรีตโดยปริมาตรเป็น 1:2:4 (ปูนซีเมนต์:ทรายหยาบ:หิน) วัสดุที่ใช้ผสม ทราย หิน ต้องมีความสะอาด ปราศจากเศษวัชพืช ดินโคลน ใช้หินโม่เบอร์ 2 น้ำที่ใช้ผสมเป็นน้ำสะอาดดื่มได้ ในกรณีที่ใช้คอนกรีตผสมเสร็จ กำลังอัดคอนกรีตไม่ต่ำกว่า 210 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร (แท่งลูกบาศก์) และก่อนเทคอนกรีตทุกครั้ง ต้องแจ้งผู้ควบคุมงานทราบล่วงหน้า เป็นลายลักษ์อักษร

6. ปูนซีเมนต์ แบ่งตามลักษณะการใช้งาน ดังนี้

6.1  ปูนซีเมนต์ผสมคอนกรีต ใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์

6.2  ปูนซีเมนต์สำหรับงานก่อ ฉาบ และปรับแต่งผิวพื้น กำหนดให้ใช้ปูนซีเมนต์สำหรับงานก่ออิฐ ฉาบปูน

7. งานไม้แบบ ไม้แบบต้องมีความหนาไม่น้อยกว่า 1 นิ้ว กรณีใช้ไม้อัดต้องหนาไม่น้อยกว่า 15 มิลลิเมตร ไม้คร่าวยึดแบบและไม้ค้ำยันต้องมีความมั่นคงแข็งแรงดีพอ สามารถรับน้ำหนักคนงาน คอนกรีตสด และอุปกรณ์ ก่อนเทคอนกรีตทุกครั้ง ต้องตรวจสอบระดับในทางนอน ทางดิ่งให้เป็นไปตามรูปแบบ ทำความสะอาด เก็บเศษเหล็ก  เศษไม้ และอุดรูรั่วต่างๆให้เรียบร้อย ใช้สายยางฉีดน้ำภายในไม้แบบให้เปียก แล้วจึงเทคอนกรีตตามลำดับ

8.การถอดไม้แบบ ตามมาตรฐานปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์กำหนดระยะเวลาการถอดไม้แบบหลังจากเทคอนกรีตไปแล้วต้องไม่น้อยกว่าเกณฑ์ดังนี้

8.1 แบบข้างเสา ข้างคาน และข้างกำแพง 48 ชั่วโมง

8.2 แบบใต้พื้น 7 วัน และต้องค้ำยันใต้พื้นต่อไปอีก 21 วัน

8.3 แบบใต้คาน ใต้กันสาด 14 วัน และต้องค้ำยันใต้คาน ใต้กันสาดต่อไปอีก 21 วัน การค้ำยันคานยื่น และพื้นยื่นให้ค้ำยันเพียงจุดเดียวที่บริเวณกึ่งกลางคานยื่นหรือพื้นยื่น การถอดแบบหล่อคอนกรีต เมื่อพบรูโพรงในเนื้อคอนกรีตจนมองเห็นเหล็กเส้น ต้องรีบแจ้งรายงานผู้ควบคุมงานให้ทราบทันที เพื่อที่จะได้ตรวจสอบ และแก้ไขต่อไป

9.การบ่มคอนกรีต ให้เริ่มบ่มคอนกรีตต่อเมื่อเทคอนกรีตไปแล้ว 24 ชั่วโมง และต้องบ่มติดต่อกันอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 วัน มีวิธีการ ดังนี้

9.1  เสาและคาน ให้ใช้กระสอบป่านปกปิดคลุมให้ทั่ว ใช้สายยางฉีดรดน้ำให้เปียกชุ่มตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง

9.2  พื้น ให้ใช้วิธีการขังแช่น้ำทั้งแผ่นพื้น น้ำที่ใช้บ่มคอนกรีตจะต้องเป็นน้ำที่สะอาด เช่นเดียวกันกับน้ำที่ใช้ผสมคอนกรีต

10. งานก่ออิฐ อิฐที่นำมาก่อผนังเป็นอิฐที่ผลิตจากโรงงานไม่แตกร้าว บิดเบี้ยว ขนาดก้อนอิฐได้มาตรฐานทุกก้อน ก่อนนำมาก่อสร้าง  ต้องแช่น้ำเพื่อไม่ให้อิฐดูดน้ำจากปูนก่อ ส่วนผสมของปูนก่อ 1:2(ปูนซีเมนต์:ทรายหยาบ) เสาด้านที่ก่อผนังอิฐชนต้องเสียบเหล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ความยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ห่างกันทุกระยะประมาณ 50 เซนติเมตร  เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของรอยต่อระหว่างผนังกับเสาคอนกรีต การก่ออิฐให้ก่อแบบสลับแนวต่อ และเทเอ็นคอนกรีตโดยรอบวงกบประตู หน้าต่าง โดยใช้เหล็กเส้นผ่าศูนย์กกลาง 6 มิลลิเมตร 2 เส้น เหล็กปลอกตัวซี เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตร ระยะห่างปลอกประมาณ 20 เซนติเมตร

11. งานฉาบปูน ให้ฉาบปูนได้ต่อเมื่อก่ออิฐไปแล้วไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ก่อนฉาบต้องปรับระดับจับเหลี่ยมเสา เหลี่ยมคาน รอจนแห้งสนิท รดน้ำผนังให้ชุ่ม แล้วจึงฉาบครั้งแรกด้วยปูนจืด ฉาบทับด้วยปูนเค็มรวมความหนาโดยเฉลี่ยประมาณ 1 เซนติเมตร เซาะร่องรอยต่อปูนฉาบระหว่างเสากับคาน เป็นรูปตัวยู (U) ทั้งภายนอกและภายในตัวบ้าน การฉาบปูนผนังที่มีแสงแดดส่องถึงโดยตรง ต้องจัดให้มีการป้องกันแสงแดด เพื่อไม่ให้ปูนฉาบแห้งเร็ว มีปัญหาแตกร้าวงแดดส่องถึงโดยตรง ต้องจัดให้มีการป้องกันแสงแดด เพื่อไม่ให้ปูนฉาบแห้งเร็ว มีปัญหาแตกร้าวภายหลัง

12. งานไม้และไม้วงกบ เป็นไม้เนื้อเข็งจากโรงเลื่อย ไม่บิดงอ แตกร้าว ต้องแห้งสนิท ไม้คร่าวเพดาน ต้องทาน้ำยากันปลวกโดยทาให้ทั่วทั้ง 4 ด้าน ของไม้ตลอดความยาว การต่อไม้ การบากเข้าไม้ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ดี

13. งานเหล็กเสริมคอนกรีต  ให้ใช้เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ ชั้นคุณภาพ SR 24 เป็นเหล็กใหม่จากโรงงานไม่เป็นสนิม ไม่เปื้อนสีหรือน้ำมัน การงอเหล็กและการต่อเหล็กเสริมเป็นไปตามหลักวิชาการ จัดระยะห่างเหล็กเส้นให้ตรงตามรูปแบบ การผูกเหล็กใช้ลวดผูกเหล็กเบอร์ 18 ผูกแบบสาแหรกทบลวด 2 เส้น และไม่บิดลวดจนหางเปียขาด ต้องป้องกันไม่ให้เหล็กเสริมชิดไม้แบบ ให้หนุนเหล็กด้วยลูกปูน 2x2 นิ้ว หนา 1 นิ้ว มีลวดผูกยึดติดเหล็กเสริม เมื่อผูกเสร็จ ต้องแจ้งผู้ควบคุมงานมาตรวจสอบ เพื่อเตรียมเทคอนกรีตต่อไป

14. การเทคอนกรีต ให้ปฏิบัติ ดังนี้

14.1 นำกระป๋องบรรจุคอนกรีตเข้าใกล้จุดที่จะเทให้มากที่สุด ไม่ควรเอากระป๋องโขกกับเหล็กเสริมและไม้แบบ เวลาเท คอนกรีตหมดแล้ว

14.2 การเทฐานรากลึก ควรมีรางส่งคอนกรีต ไม่ควรใช้กระป๋องเทจากที่สูง เพราะจะทำให้เกิดการแยกตัวของส่วนผสมคอนกรีต

14.3 การเขย่าคอนกรีต ให้กระทุ้งคอนกรีตทันทีหลังจากเทแต่ละครั้ง โดยใช้เครื่องเขย่าคอนกรีตและอย่าให้โดนเหล็กเสริม

14.4 การหยุดการเทคอนกรีตในระหว่างพักงาน ต้องปรึกษาผู้ควบคุมงาน และรอยต่อคอนกรีตต้องตั้งฉากกับงาน

14.5 การเทคอนกรีตกลางแจ้ง ถ้าเกิดฝนตกให้หยุดทำงานทันที

14.6 คอนกรีต หลังจากผสมแล้วในแต่ละครั้ง ต้องใช้ให้หมดภายใน 45 นาที 

15. งานโครงเหล็กรูปพรรณ ก่อนติดตั้งต้องทาสีกันสนิมแดง 1 เที่ยว และทาสีน้ำมันสีเทาเคลือบอีก 1 เที่ยว การต่อและการเชื่อมเหล็กต้องเชื่อมให้เต็มแนวหน้าสัมผัส

16. งานมุงกระเบื้องหลังคา ให้ตัดมุมกระเบื้องเพื่อให้กระเบื้องทับซ้อนกันสนิท ใช้ช่างสำหรับมุงกระเบื้องโดยเฉพาะ การตัดกระเบื้องให้ตัดด้วยแผ่นตัดไพเบอร์ ยึดกระเบื้องด้วยขอสลักเกลียวยึดกระเบื้องลอนคู่ให้ทะลุกระเบื้อง 2 แผ่น

17. งานฝ้าเพดาน ฝ้าเพดานรอบชายคา ฝ้าเพดานระเบียง เป็นเพดานไม้เทียม (ไม้คอนวูด) ขาด 1/2X4นิ้ว ทาสี ด้านหลังกรุมุ้งลวดอลูมิเนียม โครงคร่าวไม้ ฝ้าเพดานภายในบ้านเป็นฝ้าเพดานยิบซั่มบอร์ดแบบฉาบเรียบ โครงคร่าววโลหะซีไลน์ มีไม้มอบเพดานเคลือบเงาทุกห้องขนาด 1x4 นิ้ว เป็นไม้ลอกบัวสำเร็จรูปและเพดานภายในบ้านให้มีช่องเปิด 0.60x0.60 เมตร อยู่ภายในห้องน้ำ

18. งานประตูไม้ ไม้วงกบ ไม้บานประตู ต้องผ่านการอบเป็นอย่างดีจากโรงงาน เพื่อกันการบิดงอหดตัวหรือขยายตัว อุปกรณ์ประตู ใช้ของวิทโก้ เชคโก้ เฟสโก้ หรือเทียบเท่า

19. งานหน้าต่างและช่องแสงอลูมิเนียม กำหนดเป็นอลูมิเนียมสีชาเข้ม ความหนาไม่ต่ำกว่า 1.5 มิลลิเมตร ของอัลแคนไทย ไทยเมททอล ยูแซมหรือเทียบเท่า พร้อมอุปกรณ์ครบชุด ติดตั้งโดยช่างชำนาญการ รอยต่อระหว่างผนังกับวงกบอลูมิเนียม ต้องอุดด้วยซิลิโคลนสีขาวทั้ง 2 ข้าง หน้าต่างบานเลื่อนทุกช่องมีมุ้งลวดเส้นใยไพเบอร์ พร้อมอุปกรณ์

20. งานสี สีที่ใช้ทาผนังฉาบปูนใช้สีพลาสติกสีขาว ทั้งภายนอกภายใน โดยกำหนดให้ทารองพื้น 1 เที่ยว ทาสีจริงทับอีก 2 เที่ยว ส่วนที่เป็นไม้ งานภายนอกเคลือบคิวปรีโนลสีไม้สัก งานภายในเคลือบด้วยยูริเทน ใช้สี และน้ำมันเคลือบเงาของทีโอเอ กัปตัน โจตัน หรือเทียบเท่า สีหรือน้ำมันเคลือบเงาที่นำมาใช้ต้องบรรจุในภาชนะที่เรียบร้อยไม่ชำรุด และมาจากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง มีชื่อบริษัทผู้ผลิต ยี่ห้อ หมายเลขรหัสสีและการทาสีภายนอกอาคารให้ทาได้เฉพาะตอนกลางวันที่มีสภาพอากาศ แจ่มใส พื้นผิวงานที่ทาต้องแห้งสนิท มีการเตรียมพื้นมาอย่างดี

21. งานท่อและสุขภัณฑ์ ขนาดความหนาของท่อพีวีซีทุกขนาด ทุกประเภท ความหนาไม่ต่ำกว่าคุณภาพชั้น 8.5 ห้ามใช้ความร้อนในการดัดงอท่อ สุขภัณฑ์พร้อมอุปกรณ์ใช้ของอเมริกันสแตนดาร์ด ค็อตโต้ การัต หรือเทียบเท่า ใช้สีขาว การติดตั้งสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำ ให้กระทำหลังงานปูกระเบื้องห้องน้ำแล้วเสร็จ ติตตั้งโดยช่างชำนาญการ

22. งานปูกระเบื้องพื้นและผนัง กระเบื้องทุกแผ่นใช้ของเกรด A ต้องแช่น้ำก่อนปู การตัดกระเบื้องให้ใช้เครื่องตัดกระเบื้องโดยเฉพาะ ในกรณีที่ต้องมีการเจาะรูพื้นหรือผนัง ห้ามแบ่งกระเบื้องออกเป็น 2 แผ่น ให้ใช้เครื่องเจาะกระเบื้อง ก่อนปูต้องเทปรับแต่งพื้นให้เรียบร้อย พื้นที่ต้องสัมผัสกับน้ำ ต้องทดสอบความลาดเอียงก่อนปูโดยการเทราดน้ำลงไป น้ำจะต้องไม่ขัง ส่วนการยาแนวรอยต่อใช้ปูนยาแนวกระเบื้องโดยเฉพาะ ใช้กระเบื้องขนาด 8x8 นิ้ว ของค็อตโต้ ดูราเกรส คัมพาน่า หรือเทียบเท่า 

23. งานไฟฟ้า ขนาดของสายไฟฟ้า ท่อร้อยสายไฟฟ้า มาตรฐานการติดตั้งสายไฟฟ้า การพาดสายไฟฟ้า การต่อเชื่อมสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ให้ใช้ข้อกำหนดการไฟฟ้า ใช้สวิตช์ไฟฟ้าและเต้ารับไฟฟ้าแบบฝังในผนังของ เนชั่นแนล ทีชีโน วีโต้ หรือเทียบเท่า อุปกรณ์ดวงโคมไฟฟ้า เจ้าของบ้านเป็นผู้เลือกกำหนดในที่ก่อสร้าง

24. การส่งมอบงาน ผู้รับจ้างต้องทำการทดสอบ ระบบน้ำประปา ระบบน้ำทิ้งน้ำเสีย ระบบไฟฟ้า การรั่วซึมต่างๆ ซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและพื้นที่ใกล้เคียง ให้เรียบร้อยสมบูรณ์ และทำความสะอาดพื้นที่ในบ้าน นอกบ้าน พร้อมให้เจ้าของบ้านเข้าอยู่อาศัยได้โดยเร็ว

เทคนิคงานเขียนแบบ


ช่างเทพ GODTECHNICIAN DESIGN


จากประสบการณ์ การทำงานที่ยาวนาน ในงานช่าง เรายินดี รับปรึกษางานช่าง รับเหมางานช่าง

เสนอ แนะนำ แหล่งข้อมูลเป็นประโยชน์ "เขียบแบบ AutoCAD"

การตั้งค่าคุกกี้
X
ไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ในการท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้น
คุณสามารถยอมรับคุกกี้ทั้งหมดหรือเลือกประเภทของคุกกี้ที่คุณยินดีอนุญาต
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
เลือกคุกกี้ที่คุณต้องการอนุญาตในขณะที่คุณเรียกดูเว็บไซต์นี้ โปรดทราบว่าคุกกี้บางตัวไม่สามารถปิดได้ เนื่องจากหากไม่มีคุกกี้ เว็บไซต์จะไม่ทำงาน
ความสำคัญ
เพื่อป้องกันสแปม ไซต์นี้ใช้ Google Recaptcha ในแบบฟอร์มการติดต่อ

ไซต์นี้อาจใช้คุกกี้สำหรับอีคอมเมิร์ซและระบบการชำระเงินซึ่งจำเป็นสำหรับเว็บไซต์เพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง
บริการของ Google
ไซต์นี้ใช้คุกกี้จาก Google เพื่อเข้าถึงข้อมูล เช่น หน้าที่คุณเยี่ยมชมและที่อยู่ IP ของคุณ บริการของ Google บนเว็บไซต์นี้อาจรวมถึง:

- Google Maps
ข้อมูล
ไซต์นี้อาจใช้คุกกี้เพื่อบันทึกพฤติกรรมของผู้เข้าชม ติดตามการแปลงโฆษณา และสร้างผู้ชม รวมถึงจาก:

- Google Analytics
- เครื่องมือวัด Conversion ของ Google Ads
- Facebook (Meta Pixel)